‘โดรนช่วยน้ำท่วม’ ช่วยค้นหาผู้ประสบภัย-ส่งสิ่งของและยาบรรเทาความเดือดร้อน

Share

Loading

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้นั้นหนักหนาสาหัสกว่าที่ใครจะคาดคิดไว้จริงๆ โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2567 ระบุชัดว่าในวันนี้พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยนั้นขยายไปถึง 13 จังหวัดทั่วไทยแล้ว โดยมีผู้บาดเจ็บถึง 390 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมถึง 47 ราย นอกจากนั้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังพบว่ามีผู้ประสบภัยเครียดหนัก และมีภาวะเครียดสูงถึง 521 ราย ที่เสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย

ที่กล่าวมานี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าภัยจากน้ำท่วมนั้นส่งผลกระทบได้มากมายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจ ทว่า ท่ามกลางวิกฤตนี้เอง ที่สร้างโอกาสในการปรับเอานวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทยมาปรับใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์และความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

และ โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล่าสุดได้นำมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการระบุตำแหน่ง ค้นหาผู้ประสบภัย ตลอดจนขนส่งสิ่งของและเวชภัณฑ์หรือยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโดรนที่ได้นำมาปฏิบัติภารกิจดังที่กล่าวมานี้เป็น โดรนช่วยน้ำท่วม ที่คิดค้นและออกแบบโดยคนไทยและเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ทั้งนี้ โดรนช่วยน้ำท่วมตัวแรกเป็นโดรนรุ่น Vilverin VL340 ผลงานของทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และบริษัท เอ็กซ์ทรีม คอมโพสิต จำกัด ซึ่งใช้ในการบินตรวจการเพื่อดูสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ ณ เวลานั้นๆ และค้นหาผู้ที่ประสบภัยและต้องการความช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ

ขณะที่ โดรนอีกหนึ่งตัวเป็นโดรนที่ได้รับการคิดค้นและออกแบบขึ้นเพื่อขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในเชิงพาณิชย์ระหว่างเกาะในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาและนำเอา อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนมาใช้ในการส่งสินค้าระหว่างเกาะเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดย บริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จำกัด ร่วมกับ วิลล่า มาร์เก็ท และ บริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด โดยได้ร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบูรณาการความร่วมมือนี้กับอีกหลายหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำให้โดรนที่คิดค้นขึ้นนี้ไปนำไปใช้งานจริง และในช่วงที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีนี้ โดรนตัวนี้จึงได้นำมาปรับใช้ในการบรรเทาสาธารณภัยและการขนส่งเวชภัณฑ์หรือสิ่งของสำคัญในพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดรนรุ่น Vilverin VL340 กับความสามารถเกินตัว ใช้ AI จุดเด่นของ การระบุตำแหน่งที่ผู้ประสบภัยอยู่ พร้อมส่งความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

โดรนรุ่น Vilverin VL340 เป็นผลงานของ ผศ.ดร.สุรเดช ตัญตรัยรัตน์ (หัวหน้าโครงการ) ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล, รศ.ดร.อัฏฐพล อริยฤทธิ์ และ อ.ดร.อรลักษณ์ พิชิตกุล ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี บริษัท เอ็กซ์ทรีม คอมโพสิต จำกัด เป็นผู้ให้ทุนร่วมกับ บพข. ซึ่งโดรนรุ่นนี้ จัดเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบผสม (Hybrid) ชนิดปีกตรึงขึ้นลงแนวดิ่ง ทำให้สามารถขึ้นลงโดยไม่ต้องใช้ทางวิ่งขึ้น (Runway) แต่สามารถบินได้ไกลและนานถึง 150-180 นาที ด้วยหลักการทางอากาศพลศาสตร์ในการสร้างแรงยก ทำให้เหมาะกับภารกิจการใช้งานกับพื้นที่ขนาดใหญ่

โดยภารกิจหลักของอากาศยาน คือ การบินตรวจการ สำรวจและถ่ายภาพทางอากาศในการทำแผนที่ความละเอียดสูง โดยอากาศยานลำนี้สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 3-5 กิโลกรัม ทำให้สามารถติดตั้งกับอุปกรณ์และเซนเซอร์เก็บข้อมูลรูปแบบต่างๆ ได้หลากหลาย เช่น กล้องความละเอียดสูง, กล้องวิดีโอถ่ายทอดสด, กล้องจับความร้อน, กล้อง Multispectral, เซนเซอร์ High-End LiDAR, กล่องเก็บสินค้า และอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากนั้นระบบควบคุมการบินมีการพัฒนาเลือกใช้เซนเซอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อเกรดอุตสาหกรรม ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมในประเทศไทยและโซนประเทศในเขตร้อนชื้น โครงสร้างอากาศยานมีผลการทดสอบความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และด้านอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่าแค่การทดสอบคลื่นเพื่อใช้ยื่นคำขอการขอขึ้นทะเบียนโดรนทั่วไป อาทิ EMI EMC เป็นต้น และได้รับการรับรอง MIT จากกรมอุตสาหกรรม และมาตรฐาน dSURE ด้านความปลอดภัย เป็นเครื่องยืนยันด้านความน่าเชื่อถือในการใช้งาน

ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมาจึงสามารถตอบโจทย์ภารกิจของ กระทรวง อว. ในการส่ง โดรนช่วยน้ำท่วม ได้อย่างดี ดังนั้น จึงมีการนำอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึงแบบขึ้นลงแนวดิ่งนี้ไปใช้บินตรวจการเพื่อดูสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ ณ เวลานั้นๆ และค้นหาผู้ที่ประสบภัยและต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการตรวจหามนุษย์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องอาศัยข้อมูลที่เพียงพอสำหรับความแม่นยำในการตรวจจับ

และในอนาคต ทีมนักวิจัยและบริษัทผู้สนับสนุนทุนร่วมกับ บพข. จะพัฒนาฟังก์ชั่นสำหรับใช้ถ่ายภาพด้วยกล้องความละเอียดสูงเพื่อนำข้อมูลภาพถ่ายมาสร้างแผนที่ความละเอียดสูงทั้งแบบ 2 และ 3 มิติ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และบริหารจัดการน้ำด้วยข้อมูล Digital Elevation Model หรือ Contour ความละเอียดสูง ทั้งในสถานการณ์ปกติ (ก่อน) ขณะวิกฤตและหลังสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อประเมินความเสียหายอีกด้วย

เอวิลอน โรโบทิคส์ จับมือ ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ ม.เกษตรศาสตร์ ส่ง Drone Delivery ปฏิบัติภารกิจส่งสิ่งของจำเป็นให้ผู้ประสบภัย

มาถึงอีกหนึ่งนวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย กับโครงการระบบโครงข่ายอากาศยานไร้คนขับ (UAV) เพื่อการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาและนำเอา อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน มาใช้ในการส่งสินค้าระหว่างเกาะเป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดย บริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จำกัด ได้ร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับทุนสนับสนุนจาก บพข. ภายใต้กระทรวง อว.

โดยโครงการนี้มุ่งเน้นพัฒนาโดรนที่สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ทำการทดสอบใช้งานในพื้นที่จริงที่ตำบลเชิงทะเล จังหวัดภูเก็ต มากกว่า 300 เที่ยวบิน ส่งสินค้าจากร้าน วิลล่า มาร์เก็ต ไปยังหมู่บ้าน Shambhala Grand Villa ได้สำเร็จ

จุดเด่นของโดรนที่พัฒนาโดยทีมวิจัยคือความสามารถในการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง ด้วยความรวดเร็วและความปลอดภัย ทำให้โดรนนี้สามารถนำไปใช้ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน คณะวิจัยได้รับการประสานงานจาก บพข. เพื่อนำโดรนไปใช้ในการขนส่งสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งการใช้งานเทคโนโลยีนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักพัฒนาไทยที่นำความรู้และนวัตกรรมมาช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤตอย่างแท้จริง

นวัตกรรมนี้ไม่เพียงแต่ช่วยในการส่งสินค้าสำหรับชีวิตประจำวันในสภาวะปกติ แต่ยังสามารถช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทยทั้งหมดนี้ ทำให้ภารกิจบรรเทาสาธารณภัยและการขนส่งเวชภัณฑ์หรือสิ่งของสำคัญในพื้นที่น้ำท่วมเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีโดรนที่พัฒนาในประเทศไทย ที่สามารถสร้างความแตกต่างในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างชัดเจน

การนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการช่วยเหลือครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้การส่งสิ่งของจำเป็นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย แต่ยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทย ในการจัดการกับสาธารณภัยในอนาคต การนำความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์วิกฤตเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศสามารถปรับตัวและรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/09/19/pmuc-flood-rescue-drone/