การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

Share

Loading

หน่วยวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ ระหว่างปี 2566 – 2568 จะมีมูลค่าจำหน่ายภายในประเทศที่เติบโตอยู่ประมาณ 5.5 – 7% ต่อปี ขณะที่การส่งออกก็จะโตเช่นกัน เพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ย 6.5 – 7.5% ต่อปี ที่เป็นเช่นนี้ มีปัจจัยมาจากแรงหนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าจุดแข็งของอุตสาหกรรมนี้ เกิดจากอัตราการเจ็บป่วยที่แนวโน้มสูงขึ้นจากสังคมวัยชรา การเกิดโรคใหม่ๆ และการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์-สุขภาพ

นอกจากนั้น ยังบวกกับอีกจุดแข็งของประเทศ คือ บุคลากรทางการแพทย์ คุณภาพการรักษา และราคารักษา เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ควบรวมไปกับความต้องการ เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญของไทย และแรงส่งสุดท้ายให้วิ่งฉิว คือรัฐส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน

และล่าสุด อีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ยืนยันว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย มีแนวโน้มการเติบโตที่สดใส และนี่ก็เป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนควรสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ให้โตได้ต่อเนื่อง คือ รายงานผลจากสมุดปกขาว “การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ด้วยนวัตกรรมของไทย 2567” ที่ระบุถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จาก สอวช. ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้กับคนไทย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของภาครัฐแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสั่งสมศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศด้วย และต่อไปนี้ คือประเด็นสำคัญที่สมุดปกขาวฉบับนี้ต้องการนำเสนอ เพื่อนำไปปรับใช้ในการวางแนวทางส่งเสริม อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย

การพัฒนาเครื่องมือแพทย์ สำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย?
  • ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์เฉลี่ย 73,000 ล้านบาท/ปี โดย 52,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณภาครัฐ หากมีการผลิตในประเทศจะลดการนำเข้าและเพิ่มอำนาจการต่อรองในการจัดซื้อกับบริษัทต่างชาติได้ในราคาที่ถูกลง โดยคาดว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 30%

  • ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

โรงพยาบาลขนาดเล็กในชนบทเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ได้น้อย ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและประชากรกลุ่มเปราะบางที่ขาดความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล จึงมีความมั่นคงทางสุขภาพต่ำกว่าประชาชนในเขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร เพียงจังหวัดเดียว มีเครื่อง CT Scan 24.7 เครื่อง/ประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคมี CT Scan เพียง 7 เครื่อง/ประชากร 1 ล้านคน เป็นต้น

  • สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข

ในภาวะวิกฤต เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา ไทยไม่มีอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ผลิต ต้องรอให้ประเทศผู้ผลิตซัพพลายให้กับประเทศตนเองจนเพียงพอจึงจะส่งออกมายังประเทศอื่น ทำให้ช่วงแรกไทยต้องเสี่ยงขาดแคลนเครื่องมือแพทย์จำเป็นหลายรายการ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องส่องตรวจระบบทางเดินหายใจ เครื่อง AED ชุดตรวจวินิจฉัย หน้ากาก N95 เป็นต้น

ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท

อีกทั้งยังเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 5,000 คน และเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ให้ประชาชนในภูมิภาคและชนบทได้มากกว่า 1,000,000 คน และเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขในระยะยาว ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนค่าใช้จ่ายด้านครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้กลายเป็นการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพทางนวัตกรรมด้านการแพทย์ให้กับประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงในภาวะวิกฤติ

4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขในระยะยาว

1.การพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ให้เชื่อมโยงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยภาคีเครือข่ายวิศวกรรมชีวการแพทย์ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานช่างทักษะสูงเพื่อผลิตอุปกรณ์การแพทย์

2.การบริหารจัดการทุนวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดย สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการแพทย์

3.การสร้างความเชื่อมั่นและลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด โดยกรมบัญชีกลาง เช่น หน่วยงานสาธารณสุขของภาครัฐต้องจัดหาสินค้าจากผู้ผลิตในไทยก่อนเป็นอันดับแรก หากไม่มีจึงจัดหาจากผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตต่างประเทศ รวมถึงการมีมาตรการด้านการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น

4.ผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกและยกระดับศักยภาพ SMEs เครื่องมือแพทย์ โดยหน่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น ส่งเสริมให้มีหน่วยงานกลางคอยทำหน้าที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ ตั้งแต่ข้อมูลการตลาด การบ่มเพาะธุรกิจ การเชื่อมโยงแหล่งทุน เชื่อมโยงเครือข่ายของนักวิจัยและแพทย์พยาบาลผู้ใช้ โรงงานผู้ผลิต หรือการเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำปรึกษาด้านการทดสอบมาตรฐาน และการเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อให้สามารถได้รับการรับรองจาก อย. ด้วยระยะเวลาที่สั้นลง เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/09/23/medical-supplies-and-equipment-thailand/