Anti-Fragile City เมืองที่แกร่งขึ้นจากวิกฤติ เมืองที่ยืดหยุ่น

Share

Loading

หลายทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดเรื่อง “เมืองที่ยืดหยุ่น” (Resilient City) เป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบเมืองในยุคปัจจุบัน เมื่อโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

เมืองที่ยืดหยุ่นไม่เพียงเป็นเมืองที่สามารถต้านทานต่อความเสียหายได้ แต่ยังสามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างรวดเร็วหลังจากเกิดวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมืองที่ยืดหยุ่นได้กลายเป็นกรอบสำคัญสำหรับเมืองต่างๆ ที่ต้องเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในโลกที่มีความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเมืองให้กลับสู่สภาวะเดิมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แนวคิดใหม่คือการต้องสร้าง “เมืองที่แกร่งขึ้นจากวิกฤติ” (Anti-Fragile City) ซึ่งไม่เพียงแต่จะฟื้นตัวจากวิกฤติแต่ยังเติบโตและพัฒนาจากการเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านั้น

แนวคิด Anti-Fragile เสนอโดย Nassim Nicholas Taleb ในหนังสือ “Antifragile: Things That Gain from Disorder”

Taleb ได้วิเคราะห์ถึงวิธีที่ระบบต่างๆ ในธรรมชาติและสังคมสามารถเติบโตขึ้นจากความไม่แน่นอนและความผันผวน ไม่ใช่เพียงแค่ฟื้นคืนกลับมาเท่านั้น มีคำ 3 คำที่จะทำให้เข้าใจแนวคิดนี้ได้ดีขึ้น

“Fragile” หรือ เปราะบาง สิ่งที่เปราะบางจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อเผชิญกับความท้าทายหรือความไม่แน่นอน

เมื่อเจอกับแรงกระแทกหรือวิกฤติ สิ่งที่เปราะบางมักจะแตกหัก เสียหาย หรือเสื่อมสภาพ ตัวอย่างเช่น แก้วที่หล่นจากที่สูง จะแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะไม่สามารถต้านทานแรงกระแทกได้

“Resilience” หรือ ยืดหยุ่น” สิ่งที่ยืดหยุ่นคือสิ่งที่สามารถทนทานและฟื้นตัวจากวิกฤติหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ เมื่อเผชิญกับความผันผวนหรือความไม่แน่นอน สิ่งเหล่านี้จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมหรือฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เสียหายถาวร เช่น สปริงที่ถูกยืดออกไปแต่เมื่อปล่อยก็กลับคืนสู่รูปทรงเดิม

“Anti-fragile” สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งเปราะปาง (Fragile) ไม่ใช่สิ่งที่ยืดหยุ่น (Resilience) แต่คือสิ่งที่ไม่เปราะบาง (Anti-fragile) เพราะสิ่งนี้ไม่เพียงแค่รอดพ้นจากวิกฤติหรือความผันผวนได้เท่านั้น แต่ยังเติบโตและพัฒนาได้จากความท้าทายและความไม่แน่นอน ยิ่งเจอกับแรงกระแทกหรือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันมากเท่าไร สิ่งที่ไม่เปราะบางจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น ร่างกายมนุษย์ที่เมื่อออกกำลังกายแล้วจะไม่เพียงแค่ฟื้นตัว แต่กล้ามเนื้อจะแข็งแรงขึ้น กล่าวโดยสรุป Fragile คือ สิ่งที่เสียหายจากวิกฤติResilience คือสิ่งที่ทนทานและฟื้นตัวจากวิกฤติและ Anti-fragile คือสิ่งที่เติบโตและแข็งแกร่งขึ้นจากวิกฤติ

เมืองที่แกร่งขึ้นจากวิกฤติ (Anti-fragile City) จึงก้าวไปไกลกว่าแค่การฟื้นตัวจากวิกฤติ แต่หมายถึงการเติบโตขึ้นจากความท้าทาย

แม้กระบวนการเปลี่ยนแปลงจาก “เมืองยืดหยุ่น” เป็น “เมืองที่แกร่งขึ้นจากวิกฤติ” อาจซับซ้อน แต่มีความจำเป็น เนื่องจากปัญหาที่โลกเผชิญในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่เกิดซ้ำซาก

เมืองที่ไม่เปราะบางจะไม่เพียงแค่ทนต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ยังเติบโตจากวิกฤติและสร้างความมั่นคงในระยะยาวได้

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เมืองยืดหยุ่นพัฒนาเป็นเมืองที่ไม่เปราะบาง

นอกจากการสร้างอาคารที่ทนต่อแผ่นดินไหวหรือระบบระบายน้ำที่ป้องกันน้ำท่วมแล้ว เมืองที่ไม่เปราะบางต้องสามารถเรียนรู้และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจากประสบการณ์ที่เผชิญ

เมืองควรใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบระบายน้ำใหม่ให้รองรับเหตุการณ์ในอนาคตได้ดีกว่าเดิม

การจัดการทรัพยากร เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของเมืองที่ไม่เปราะบาง เมืองต้องกระจายความเสี่ยงในการใช้ทรัพยากร ไม่พึ่งพาแหล่งเดียวเกินไป เช่น การใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือพลังงานหมุนเวียน

เมืองที่ไม่เปราะบางต้องสามารถปรับตัวเมื่อเผชิญวิกฤติทรัพยากร และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ

ชุมชนที่แข็งแกร่ง เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองที่ไม่เปราะบาง ชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกันจะสามารถรับมือวิกฤติได้ดีกว่า

เมืองที่ไม่เปราะบางต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ ระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูลสำคัญและตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาจากเมืองยืดหยุ่นสู่เมืองที่ไม่เปราะบางคือ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมืองนี้ได้เผชิญแผ่นดินไหวและภัยพิบัติหลายครั้ง แต่โตเกียวได้เรียนรู้และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

เช่น การออกแบบอาคารให้ทนต่อแผ่นดินไหว และการพัฒนาระบบเตือนภัยที่ทันสมัยเพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า มีระบบระบายน้ำที่ประสิทธิภาพ และมีการให้ความรู้กับประชาชนในการเผชิญวิกฤติ ทำให้เมืองนี้สามารถเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นจากวิกฤติ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมตลอดเวลา เมืองได้พัฒนาระบบจัดการน้ำที่ซับซ้อน เช่น การสร้างสวนสาธารณะที่สามารถกักเก็บน้ำฝน และพื้นที่สาธารณะทำหน้าที่เป็นแอ่งเก็บน้ำชั่วคราว นอกจากการป้องกันน้ำท่วม โคเปนเฮเกนยังใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

เมืองที่ไม่เปราะบางพร้อมจะเรียนรู้ ปรับตัว และเติบโตจากวิกฤติโดยใช้ปัญหาเป็นแรงผลักดันให้แข็งแกร่งขึ้นในทุกด้าน

หลายๆ เมืองในประเทศไทยที่เผชิญกับความท้าทายและภัยพิบัติในทุกวันนี้ จำเป็นต้องพัฒนาเมืองใหม่ให้กลายเป็นเมืองที่แข็งแกร่งขึ้นจากวิกฤติในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1148550