เมื่อสหรัฐฯแปลงหัวรบเป็นเชื้อเพลิงได้!

Share

Loading

ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับหัวรบนิวเคลียร์ในฐานะอาวุธทำลายล้าง แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อสหรัฐฯเริ่มนำอาวุธเหล่านี้มาใช้ผลิตพลังงาน

เมื่อพูดถึงหัวรบนิวเคลียร์ย่อมสร้างภาพจำไม่ดีให้แก่คนส่วนใหญ่ เพราะนี่เป็นหนึ่งในอาวุธสงครามที่มีอำนาจทำลายล้างสูงสุดในโลก โดยเฉพาะหัวรบนิวเคลียร์จากสหรัฐฯที่เคยสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ญี่ปุ่น และยังเป็นบาดแผลในใจของใครหลายคนจนปัจจุบัน แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการนำหัวรบนิวเคลียร์มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า

จากอาวุธทำลายล้างสู่แหล่งพลังงานสะอาด

ข้อมูลนี้มาจากรายงานของทาง CNN เมื่อทางรัฐสภาได้สั่งให้ National Nuclear Security Administration(NNSA) และกระทรวงพลังงาน นำเอาหัวรบนิวเคลียร์ที่เคยประจำการในฐานะอาวุธ มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าและค้นคว้าวิจัย

โดยพื้นฐานเชื้อเพลิงที่ใช้ในหัวรบและเตาปฏิกรณ์เป็นแร่ธาตุชนิดเดียวกันคือ ยูเรเนียม-235 ต่างกันตรงการใช้งานในฐานะอาวุธยูเรเนียมต้องมีความเข้มข้นระดับ 20% ขึ้นไป ในขณะที่ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์จะมีระดับความเข้มข้นอยู่ที่ 5 – 20% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทางการสหรัฐฯจึงเกิดแนวคิดในการปลดระวางหัวรบเก่า แล้วนำยูเรเนียมเกรดอาวุธมาหลอมเข้ากับยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำที่ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงภายในอุณหภูมิ 2,500 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงนำเข้าสู่ห้องทำความเย็น เพื่อให้เกิดการตกผลึกออกมาเป็นแร่ยูเรเนียมสำหรับใช้ในเตาปฏิกรณ์

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่มีส่วนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศถึง 20% และตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานให้มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่เสถียรและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพอากาศ

เป้าหมายของการพัฒนาพลังงานชนิดนี้จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในความมั่นคงและการมุ่งสู่พลังงานสะอาดของสหรัฐฯ

เหตุผลในการเปลี่ยนอาวุธมาเป็นพลังงาน

การปลดระวางหัวรบเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานนี้จะเกิดขึ้นกับหัวรบรุ่นเก่าที่อยู่ในคลังแสงเป็นอันดับแรก ถือเป็นการโละอาวุธเก่าออกจากคลังแสง ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณการซ่อมบำรุงและดูแลความปลอดภัย ทำให้กองทัพนำงบไปปรับปรุงและพัฒนาอาวุธให้มีความทันสมัยและใช้งานง่ายยิ่งขึ้น

การแปรรูปยูเรเนียมในหัวรบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงยังเป็นแนวทางจัดการหัวรบที่ไม่ถูกใช้งานอย่างเหมาะสม ช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนปลดประจำการหัวรบนิวเคลียร์ ตั้งแต่ความเสี่ยงในการจัดการผิดวิธีและรั่วไหลที่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งยังสามารถนำทรัพยากรส่วนนี้ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์แก่สังคมต่อไป

ถึงอันที่จริงทางสหรัฐฯก็ไม่ได้เต็มใจเปลี่ยนหัวรบเหล่านี้มาเป็นแหล่งพลังงานนักแต่มาจากความจำเป็น

สาเหตุมาจากการจัดหายูเรเนียมที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับพลังงานนิวเคลียร์เริ่มขาดตอน เนื่องจากสหรัฐฯผ่านร่างกฎหมายห้ามนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซีย ผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าและโครงการนิวเคลียร์มากมายของสหรัฐฯเริ่มขาดแคลน

สิ่งนี้ขัดกับเป้าหมายในการผลักดันพลังงานนิวเคลียร์ให้กลายเป็นพลังงานหลักในประเทศของสหรัฐฯ จากการประเมินของกระทรวงพลังงานพบว่า ในปี 2030 อาจต้องใช้ยูเรเนียมสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในประเทศมากถึง 40 ตัน/ปี แต่ปัจจุบันสหรัฐฯสามารถผลิตยูเรเนียมได้เพียง 1 ตัน/ปีเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนยูเรเนียมเป็นวงกว้าง

ปัจจุบันรัสเซียเป็นเพียงชาติเดียวที่ส่งออกยูเรเนียมในระดับอุตสาหกรรม ทำให้โครงการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯหลายส่วนเริ่มประสบปัญหา เมื่อดูจากแนวโน้มการขยายตัวของการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ในที่สุดการขาดแคลนยูเรเนียมอาจรุนแรงจนทำให้โครงการพัฒนาทั้งหลายอาจต้องหยุดชะงักในที่สุด

นี่เป็นเหตุผลให้สหรัฐฯต้องเริ่มปลดระวางหัวรบมาใช้เป็นพลังงานเพื่อป้องกันการชะลอตัวของพลังงานนิวเคลียร์

ผลกระทบที่ตามมาจากจำนวนหัวรบที่ลดลง

การยอมถอดเขี้ยวเล็บเพื่อสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์อาจช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไม่มาก จากข้อมูลระบุว่าการปลดระวางหัวรบนิวเคลียร์ช่วยให้พวกเขาผลิตยูเรเนียมได้ 6 ตัน/ปี แม้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่ยังห่างไกลกับความต้องการขั้นต่ำที่ตั้งไว้ กระทรวงพลังงานจึงต้องมองหาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป

สิ่งนี้ยังสวนทางกับแนวโน้มสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ความขัดแย้งที่คุกรุ่นในหลายพื้นที่ ทำให้หลายประเทศเพิ่มงบประมาณแก่กองทัพเพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น พร้อมรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องอาศัยนโยบายแข็งกร้าวและกำลังทหาร

ส่วนนี้รวมถึงการขยายคลังแสงนิวเคลียร์ในหลายประเทศ รัสเซียกลับมาทดสอบขีปนาวุธและขยายคลังแสงอีกครั้งนับจากสงครามเย็น จีนก็ขยายอำนาจทางนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับชาติอื่น เช่น อินเดีย ปากีสถาน หรือเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในอนาคต

การเสียเปรียบของสหรัฐฯอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะกับชาติตะวันตกหลายประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯที่เคยเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ไม่มีอำนาจและกำลังสนับสนุนทางอาวุธเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้ประเทศที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนต้องประสบปัญหาเช่นกัน

ไม่แน่ว่าการตัดสินใจนี้อาจเป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบดุลอำนาจโลกเลยทีเดียว

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/714067