‘โจรไซเบอร์’ ป่วนระบบการผลิต พุ่งเป้า ‘เจาะระบบโอที – ขโมยข้อมูล’

Share

Loading

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการโจมตีทางไซเบอร์ยังคงมีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ภาคการเงิน เฮลธ์แคร์ รวมถึง อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ

ด้วยเหล่าแฮกเกอร์และองค์กรอาชญากรรมมองเห็นเป้าหมายได้อย่างชัดเจนว่าหากแทรกซึม เข้าไปขโมยข้อมูลออกมาได้ย่อมได้เห็นเม็ดเงินที่เป็นกอบเป็นกำอย่างชัดเจน…

การวิจัยของ “แคสเปอร์สกี้” พบว่าบริษัทอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งในสามประสบปัญหาด้านเครือข่ายเป็นประจำ โดยเฉพาะรายที่มีสถานที่ตั้งหลายแห่ง

ข้อมูลเผยว่า บริษัท 13% ประสบปัญหาด้านเครือข่ายทุกสัปดาห์,  27%  เดือนละ 2-3  ครั้ง, 19%  เดือนละครั้ง, 20% ในหลายๆ เดือนจะพบสักครั้ง, 11% ปีละสองครั้ง, ขณะที่ 3% ปีละครั้ง กล่าวได้ว่า โดยภาพรวมเกินกว่าครึ่งมีปัญหาในทุกเดือน และเกือบทุกองค์กรประสบปัญหาปีละอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ปัจจุบัน บริษัทอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งโรงงาน สำนักงานสาขา และสิ่งปลูกสร้างสำคัญซึ่งตั้งอยู่ในสถานที่ต่างๆ

ลักษณะเฉพาะของภาคอุตสาหกรรมนี้นำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อุปสรรคด้านการสื่อสาร ความยากในการประสานงานการดำเนินงาน การรักษามาตรฐานคุณภาพที่สม่ำเสมอ และการรับรองการปฏิบัติตามกฎระเบียบในพื้นที่

นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว บริษัทอุตสาหกรรมที่มีสถานที่ตั้งหลายแห่งยังต้องเผชิญกับปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและความปลอดภัยของข้อมูลอยู่เสมอ

‘กู้คืนระบบ’ โจทย์สุดท้าทาย

แคสเปอร์สกี้ รายงานว่า บริษัทผู้ผลิตจำนวน 49% พบว่าการตรวจจับและแก้ไขเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิผลเป็นงานที่ท้าทายที่สุด ขณะที่การติดตามการนำมาตรการด้านความปลอดภัยไปปฏิบัติ (46%) และการสร้างนโยบายด้านความปลอดภัยที่สอดประสานกัน (42%) ถือเป็นปัญหาที่สำคัญเช่นกัน

บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเกือบ 30% ระบุว่า บริษัทประสบปัญหาเครือข่ายเป็นประจำ เช่น เครือข่ายล้มเหลวหรือหยุดให้บริการ บริการและแอปพลิเคชันมีประสิทธิภาพไม่ดี และความสามารถด้านการเชื่อมต่อไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ บริษัท 38% ประสบปัญหาดังกล่าวจำนวน 1-3 ครั้งต่อเดือน ในขณะที่บริษัท 28% เผชิญปัญหานี้ทุกๆ 2-3 เดือน และมีบริษัท 7% ที่ต้องเผชิญปัญหาเครือข่ายนี้ทุกสัปดาห์

เมื่อพิจารณาจากเวลาที่ต้องใช้ในการกู้คืนเครือข่ายหลังจากเกิดความล้มเหลวหรือขัดข้อง ส่วนใหญ่ (74%) ระบุว่าโดยปกติแล้วต้องใช้เวลาระหว่าง 1 – 5 ชั่วโมง ขณะที่บริษัท 15% ระบุว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และ 10% ต้องใช้เวลาถึง 1 วันทำการเต็ม

แน่นอนว่าการหยุดให้บริการเช่นนี้จะนำไปสู่ความเสียหายทางการเงินและชื่อเสียงอย่างมาก และอาจมีค่าใช้จ่ายหลายพันดอลลาร์ต่อนาทีหรืออาจมากกว่านั้นต่อชั่วโมง ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทต่างๆ จะต้องป้องกันไม่ให้เครือข่ายหยุดชะงัก และควรสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

แนะเสริมเกราะป้องกันเรียลไทม์

แม็กซิม คามินสกี้ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ(Secure Access Service Edge) แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า ปัญหาเครือข่ายในองค์กรอุตสาหกรรมมักส่งผลให้เกิดความล่าช้า ระดับการผลิตลดลง การสูญเสียทางการเงิน และความเสี่ยงต่อชื่อเสียง เมื่อเครือข่ายล้มเหลว การสื่อสารและกระบวนการทางธุรกิจจะหยุดชะงัก พนักงานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และอาจทำลายความไว้วางใจของลูกค้าด้วย ดังนั้น บริษัทต่างๆ ควรปกป้องการดำเนินงานของตนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้

โดยการทำความเข้าใจสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นของปัญหาเครือข่ายและดำเนินการตามมาตรการเชิงกลยุทธ์ที่ทันท่วงที บริษัทต่างๆ สามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้และปกป้องกระบวนการทั้งหมดได้

สำหรับข้อปฏิบัติเพื่อลดโอกาสที่อาจเกิดปัญหากับเครือข่าย และสร้างการป้องกันที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้สำหรับทรัพย์สินและกระบวนการทั้งหมดในบริษัทอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นควรมีแพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยสำหรับระบบโอที เครือข่ายโดยภาพรวม รวมถึงการป้องกันขั้นสูง และการป้องกันเชิงรุกซึ่งสามารถจัดการได้แบบรวมศูนย์ ปรับขนาดได้และพร้อมรองรับกับทุกทราฟฟิกที่มี

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1149818