ไทยแลนด์ Food Security 24 ชั่วโมง ป้อนตลาดตะวันออกกลาง

Share

Loading

การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) ครั้งที่ 3 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ระหว่างวันที่ 1 – 3 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าในภาวะที่ความไม่สงบและมีความผันผวนในบริเวณกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้ จึงได้เสนอแนวคิดความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

โดยประเทศไทยเสนอเป็นประเทศที่จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย อีกทั้งเก็บรักษาพร้อมส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางทันทีภายใน 24 ชม. หากมีความรุนแรงและความขาดแคลนอาหารในกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งสามารถทำให้มั่นใจได้ว่าประชาชนในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางจะไม่ขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจอย่างมาก เช่น UAE, Qatar, Kuwait, Oman เป็นต้น

พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์​ สานต่อความร่วมมือด้านการสร้างคลังอาหารกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อรับมือกับความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security ต่อไปให้สำเร็จ โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีโอกาสหารือกับ ดร.ธานี บินอาเหม็ด อัลเซ ยูดี (Dr.Thani Bin Ahmed Al Zeyoudi) รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ดร.ซาอิด โมฮัมเหม็ด (Dr.Said Mohammed Al-Saqri) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจโอมาน แสดงความพร้อมของไทยในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เป็นคลังอาหารให้แก่ทั้งสองประเทศ เพื่อเสริมความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทั้งสองประเทศ แสดงความสนใจต่อบทบาทการเป็นคลังอาหาร รวมถึงมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และใช้ไทยเป็นคลังอาหารจัดหา ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อเสริมความมั่นคงทางอาหาร

สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบด้วยกลุ่มประเทศต่างๆ คือ 1. กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน 2. กลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ เลบานอน จอร์แดน ซีเรีย อิรัก และเยเมน และ 3. กลุ่มประเทศที่ไม่ใช่อาหรับ จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล

ตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง การผลิตสินค้ายังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำใต้ดิน ประกอบกับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรมีอยู่น้อยมาก ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งต้องมีการนำเข้าสูงถึงมากกว่าร้อยละ 70 ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกของไทยไปยังตะวันออกกลาง

สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (สกน.) หน่วยงานในสังกัดกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรนวัตกรรมในตลาดตะวันออกกลาง พบว่าเป็นหนึ่งในสินค้าใหม่ที่มีโอกาสขยายตลาด และมีโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการของไทย ในฐานะสินค้าที่บริโภคแล้วเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าประเภท Functional และ Healthy Products ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ มีความต้องการอาหารฮาลาลที่เป็นอาหารแห้งและอาหารกระป๋องจำนวนมาก เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางมีสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้สินค้าประเภทพืชผัก ผลไม้สด รวมถึงสินค้าอาหารแปรรูปที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ทั่วๆ ไป มีอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ค่อนข้างสั้น จึงเน่าเสียได้ง่าย อาหารกระป๋องซึ่งเก็บรักษาได้นานกว่าจึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การเจาะตลาดตะวันออกกลาง มีสิ่งที่จะต้องระวังคือความเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่จะนำเข้าไปจำหน่ายยังตลาดตะวันออกกลาง จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างรัดกุมตามข้อกำหนดของหลักศาสนาจากทั้งภายในประเทศไทยเอง และประเทศมุสลิมคู่ค้าเสียก่อน หลังจากได้รับการรับรองว่าชาวมุสลิมสามารถบริโภคได้ จึงจะได้รับอนุญาตจากองค์กรมุสลิมที่ดูแลเรื่องเครื่องหมายฮาลาลอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายฮาลาลบนฉลากสินค้าได้ ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวมีการตรวจสอบอย่างละเอียด หากมีการปะปนของสิ่งต้องห้าม หรือมาตรฐานการผลิตไม่เป็นไปตามหลักศาสนา สินค้าจะถูกกักกันและห้ามนำเข้าทันที

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าในปี 2573 มูลค่าตลาดอาหารในภูมิภาคนี้จะขยายตัวสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมือง หรือ the Economist Intelligence Unit (EIU) ได้คาดการณ์อีกว่า การนำเข้าสินค้าอาหารสู่กลุ่มประเทศ GCC ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่สาม จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับกลยุทธ์ในการบุกตลาดตะวันออกกลาง นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แนะนำว่า ตะวันออกกลาง มีชาวมุสลิมอยู่หนาแน่นและมีกำลังซื้อสูง จำเป็นต้องศึกษามาตรฐานฮาลาลซึ่งมีทั้งสิ้นประมาณ 50 มาตรฐาน จาก 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยงานสำคัญๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อวางมาตรฐานฮาลาลให้เป็นสากลและยอมรับ เช่น Organization of the Islamic Conference (OIC) มีสมาชิก 57 ประเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในสมาชิกของ OIC องค์การ Food and Agriculture Organization (FAO) กำหนดมาตรฐานสากลของอาหารฮาลาล โดย Codex Alimentations Commission สำหรับแนะนำการใช้คำ ฮาลาล (Halal) บนฉลากอาหาร และ Codex ได้จัดทำ General Guidelines for use of the term HALAL ตั้งแต่ปี 2540 เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีความเข้าใจตรงกันและมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ทั้งทางด้านแหล่งที่มาของอาหาร วิธีการฆ่าสัตว์ การเตรียมอาหาร การแปรรูปอาหาร การบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการเก็บรักษาอาหาร การมีตราเครื่องหมายอาหารฮาลาลจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มให้แก่คนมุสลิมในตลาดตะวันออกกลางได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนปัจจัยสู่ความสำเร็จในการเจาะตลาดตะวันออกกลางคือ ช่องทางการจัดจำหน่าย พันธมิตรทางธุรกิจ และการจัดวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือประตูด่านแรกที่น่าสนใจในการเจาะตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะดูไบ ซึ่งจัดเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญและเป็นจุดพักสินค้าก่อนจะกระจายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในแถบตะวันออกกลาง รวมไปถึงทวีปแอฟริกาเหนือและยุโรปตะวันออก

นอกจากนี้ การวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ ควรวางตำแหน่งสินค้าในระดับพรีเมียม เพื่อหลีกหนีการแข่งขันด้านราคา (Price War) โดยควรเน้นสินค้าที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจและพิถีพิถันในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ามากกว่าปัจจัยด้านราคา          

อย่างไรก็ตาม ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่หลากหลาย ทั้งระดับราคาและรสชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งผู้บริโภคมาจากหลากหลายเชื้อชาติและฐานะ สินค้าและอาหารที่ภูมิภาคตะวันออกกลางต้องการนำเข้า จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าที่มีรสชาติถูกปากชาวอาหรับ หรือสินค้าพรีเมียมที่มีราคาแพงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสินค้าอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเชื้อชาติอื่นๆ หรือสินค้าอาหารที่มีราคาอยู่ในระดับกลาง-ต่ำด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มต้นมองหาโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการออกงานแสดงสินค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ในปี 2566 การค้าไทยกับตะวันออกกลาง มีมูลค่ารวม 1.38 ล้านล้านบาท โดยไทยส่งออก 393,481 ล้านบาท และนำเข้า 988,929 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 595,448 ล้านบาท สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปตะวันออกกลางได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ข้าว,เครื่องปรับอากาศ, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของไทยจากตะวันออกกลาง ได้แก่ น้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมันสำเร็จรูป, ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และเคมีภัณฑ์

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/11/03/thailand-food-security-for-middle-east/