ถอดบทเรียนการสร้าง Smart city ในจีน จาก ‘แนวคิดการสร้างมหานครทันสมัย’

Share

Loading

เชื่อว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับแนวคิดการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart city กันอยู่แล้ว เนื่องจากในการพัฒนาเมืองทั่วโลก จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนอย่างรัดกุมในทุกมิติ เพื่อให้เมืองนั้นตอบสนองทั้งการใช้ชีวิตของคนในเมืองและมิติในด้านของการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ดีในเมืองนั้นด้วย

หากใครต้องการจะศึกษาแนวคิดในการสร้างเมืองอัจฉริยะ แน่นอนว่ามีต้นแบบ Smart city ให้เรียนรู้อยู่ทั่วโลก ทั้งประเทศทางฝั่งยุโรปและเอเชีย ซึ่งมีเงื่อนไขในการพัฒนาเมืองแตกต่างกันไป บางเมืองมีต้นทุนการวางผังเมืองที่ดีมาอยู่แล้ว ทว่า ในอีกหลายเมืองที่อาจไม่มีการวางผังเมืองมาตั้งแต่แรกเริ่มสร้างบ้านแปลงเมือง ย่อมมีความท้าทายกว่าเมืองอื่นๆมาก วันนี้เราจึงชวนมาเรียนรู้จาก ‘แนวคิดการสร้างมหานครทันสมัย’ หรือการสร้าง Smart city ในจีน ที่เริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องสร้างมหานครที่ทันสมัย?”

7 เหตุผล ทำไมต้องสร้างมหานครที่ทันสมัย? ในจีน

โดยผู้ที่มาตอบคำถามนี้ คือ ศาสตราจารย์ ดร.ฟ้าน เหิงซาน อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน ได้ตอบคำถามนี้ว่า

“ทั้งนี้ จากมุมมองที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเอื้อต่อการก่อตัวและรวมตัวกันของปัจจัยต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมและประชากร ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมรวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างเชิงพื้นที่ของผลผลิตและเร่งการพัฒนาในพื้นที่ที่ด้อยพัฒนา”

ดังนั้น รัฐบาลกลางของจีนจึงได้เน้นย้ำหลายครั้งว่า จำเป็นต้องประสานงานการวางผังเมือง การก่อสร้างและการจัดการกำหนดขนาดเมือง ความหนาแน่นของประชากรและโครงสร้างเชิงพื้นที่อย่างสมเหตุสมผล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ประสานกันของเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเมืองขนาดเล็ก โดยความเข้าใจถึงข้อกำหนดของกฎหมาย วัตถุประสงค์และเงื่อนไขในการส่งเสริมการสร้างมหานครที่ทันสมัยใน 7 ด้าน ได้แก่

1.เพื่อการประสานทิศทางการก่อสร้าง การวางตำแหน่งการดำเนินงานและเป้าหมายการพัฒนาของเขตเมือง โดยพิจารณารากฐานที่แท้จริงและศักยภาพในการพัฒนาของแต่ละเมืองในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรูปแบบการทำงานระหว่างเมืองและภูมิภาค ส่งเสริมการก่อตัวของคุณลักษณะที่โดดเด่น เสริมสร้างข้อได้เปรียบ รวมทั้งการส่งผ่านและการเชื่อมโยงที่ประสานกัน และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของการรวมตัวกันในเมือง

2.เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันและการเชื่อมต่อโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานใหม่และเก่า การจัดสรรองค์ประกอบที่เป็นอิสระ รวมทั้งการเชื่อมต่อและการหมุนเวียนการดำเนินงานของตลาดเป็นจุดเริ่มต้นหลัก ตลอดจนการสนับสนุนขั้นพื้นฐานในการส่งเสริมความร่วมมือแบบเปิดรอบด้านระหว่างเมืองและภูมิภาคเป็นวัฏจักร และตระหนักถึงการประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา การคุ้มครองการกำกับดูแลร่วมและบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

3.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานหลักของใจกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการเสริมสร้างการรวมตัวของเขตเมืองแล้ว จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่โดยรอบเพื่อลดการทำงานของเมืองในส่วนกลาง ซึ่งในความเป็นจริง มหานครหลายแห่งเช่น กรุงปักกิ่งและมหานครเซี่ยงไฮ้ กำลังผ่อนปรนการทำงานด้านการพัฒนาทั่วไปไปยังพื้นที่โดยรอบ ในขณะที่เน้นการทำงานหลักของการเป็นใจกลางเมือง โดยกระตุ้นและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ

4.เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่เข้มแข็งมากกว่าการขยายขนาด

5.เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ประสานกันและบูรณาการของเมืองและชนบทโดยอาศัยนวัตกรรม

6.เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองแบบบูรณาการ โดยการสำรวจการก่อตัวของระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและกลไกจูงใจ มีการจัดตั้งกลไกการจัดการในการวางแผนพื้นที่มหานคร กลไกการเจรจา และการประสานงานข้ามภูมิภาค รวมทั้งกลไกการแบ่งปันต้นทุนและการแบ่งปันผลประโยชน์ นอกจากนี้ ยังต้องสำรวจการจัดตั้งกองทุนการลงทุนแบบบูรณาการ และการสร้างกฎหมายสำหรับการดำเนินงาน

7.เพื่อส่งเสริมการก่อสร้างพื้นที่มหานครให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและกลไกความร่วมมือ รวมทั้งการประสานงานที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิผล โดยมีการนำรูปแบบองค์กรทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่างๆ มาใช้ เช่น การเลือกใช้เศรษฐกิจนอกพื้นที่ เศรษฐกิจแบบเช่าซื้อ และ เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ประสานงานกันระหว่างพื้นที่มหานคร ด้วยการเน้นข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหลักของเขตเมืองแต่ละแห่งที่จะแข็งแกร่งขึ้น

เรียนรู้การสร้าง Smart city ในจีน จาก ‘แนวคิดการสร้างมหานครทันสมัย’ จากการพัฒนาเมืองสาธารณะต้นแบบของนครเฉิงตู

และเพื่อให้เห็นภาพของการปรับเอาแนวคิดการสร้างมหานครทันสมัยไปใช้ในการพัฒนาเมืองในจีน หรือการสร้าง Smart city ในจีน เราขอยกตัวอย่าง การพัฒนาเมืองสาธารณะต้นแบบของนครเฉิงตู ซึ่งในปี 2021 จากที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางเยือนมณฑลเสฉวนและกล่าวถึงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เมืองสวนสาธารณะ (Park City)” เป็นครั้งแรก

โดย ประธานาธิบดีจีน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เดินตามแนวทางการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาการวางผังเมืองร่วมกันโดยใช้เมืองสวนสาธารณะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการส่งเสริมให้จีนเป็นประเทศที่สวยงาม ทั้งนี้ การพัฒนารูปแบบดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงการสร้างสวนสาธารณะในเมืองเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหา “โรคของเมืองขนาดใหญ่” ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาเมืองใหญ่ รวมถึงความต้องการในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวคิด “Park City” ของนครเฉิงตู ที่เน้นการพัฒนาเมืองและแหล่งที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวผ่านการนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ๆ มาปรับใช้ โดยเชื่อว่าประสิทธิผลของการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ เมือง และ การดำรงชีพของประชาชน สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)

ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นได้พยายามมุ่งเน้นการพัฒนาด้านนิเวศวิทยาและความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีคุณภาพ หลักการสำคัญของการพัฒนาเมืองสวนสาธารณะของนครเฉิงตูคือ การประยุกต์ใช้นโยบายการพัฒนาแบบ Park City + TOD (Transit – Oriented Development)

โดยกลไกหนึ่ง คือ การสนับสนุนให้มีสถานีขนส่งมวลชนมากขึ้น เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สำหรับที่ตั้งสำนักงาน ที่พักอาศัย รวมถึงแหล่งช็อปปิ้ง และพื้นที่ดังกล่าวจะมีระยะห่างจากสถานีขนส่งมวลชนประมาณ 600 เมตร หรือใช้เวลาเดินระหว่างพื้นที่ดังกล่าวไปยังสถานีขนส่งเพียง 10 นาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยพื้นที่อเนกประสงค์และพื้นที่สำหรับความบันเทิง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยนครเฉิงตูนับได้ว่าเป็นอีกเมืองที่มีการพัฒนา TOD อย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งในโลก จนกระทั่งในช่วงปี 2560 นโยบายการพัฒนาดังกล่าวเริ่มได้รับการผลักดันจากรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น

และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ทางการของสำนักงานวางแผนและจัดการทรัพยากรธรรมชาตินครเฉิงตู ได้ประกาศแผนออกแบบเมืองแบบบูรณาการ TOD ที่สำคัญหลายโครงการ โดยโครงการที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญคือ Luxiao Station TOD จัดอยู่ในโครงการ TOD ชุดแรก ตั้งอยู่บริเวณถนนจงเหอ ในเขตไฮเทคโซน ประกอบด้วย ย่านใจกลางธุรกิจ (Central Business District CBD) ต้าหยวน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก มี Xinchuan Science and Technology Park อยู่ทางทิศใต้ และมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 6 (กำลังดำเนินการก่อสร้าง) และสาย 22 (แผนการระยะยาว) ที่ห่างจากใจกลาง Luxiao Station TOD 400 เมตร

ส่วนการพัฒนาคมนาคมในระบบ TOD ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้แก่ประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสร้างระบบการขนส่งสีเขียวเพื่อบรรเทาความแออัดของเมืองและลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างรูปแบบเมืองใหม่ บนพื้นฐานของนวัตกรรมและการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ กล่าวได้ว่า TOD จะเป็นการเติมเต็มระบบการขนส่งสีเขียวที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในระบบขนส่ง เป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Development) และเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของนครเฉิงตู ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

นอกจากนั้น การพัฒนาสีเขียวยังมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาด้านนวัตกรรม การค้า และการเงิน โดยคาดว่าในปี 2565 นครเฉิงตูจะกลายเป็นเมืองชั้นนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงเป็นเมืองที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำในประเทศจีน

ดังนั้น เมืองสวนสาธารณะต้นแบบของนครเฉิงตู จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังเกิดปัญหาโรคของเมืองขนาดใหญ่ มีประชากรแฝงในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหามลภาวะ PM2.5 และปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งแออัด ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถนำหลักการหรือแนวปฏิบัติของจีนที่เร่งดำเนินการอยู่ทั้งการพัฒนาเมืองสาธารณะ เศรษฐกิจสีเขียวและเมืองอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการพัฒนา BCG Model ของไทย โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม ไปพร้อมๆ กับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/12/19/smart-city-concept-in-china/