“แมลงสาบ” จากศัตรูคู่อาฆาตสู่ฮีโร่ไซบอร์กแห่งอนาคต

Share

Loading

“แมลงสาบ” อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่คุณไม่อยากพบเจอในบ้าน แต่ถ้าคุณรู้ว่าแมลงสาบสามารถเอาตัวรอดจากอุณหภูมิที่เยือกแข็งและไม่ต้องกินอาหารเป็นเดือน หรือสามารถอยู่ได้แม้ไร้ศีรษะ คุณจะคิดอย่างไรหากรู้ว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้แมลงสาบกลายเป็น “แมลงไบโอนิก” ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถเอาตัวรอดได้ดี แต่ยังมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจนสามารถช่วยชีวิตคนได้ในภารกิจค้นหาและกู้ภัย! ร่วมค้นพบความน่าทึ่งที่เกิดขึ้นของแมลงสาบไซบอร์กอาจเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง

แมลงสาบคือสิ่งมีชีวิตที่ท้าทายขีดจำกัดของธรรมชาติอย่างแท้จริง พวกมันสามารถเอาตัวรอดในอุณหภูมิเยือกแข็ง 0°C ได้นานนับเดือนโดยไม่ต้องลิ้มรสอาหาร และกลั้นหายใจได้นานถึง 40 นาที และที่น่าทึ่งที่สุดคือยังมีชีวิตอยู่ได้ถึงหนึ่งสัปดาห์แม้ไร้ศีรษะ! นอกจากนี้ แมลงสาบยังถูกกล่าวขานว่าอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่รอดพ้นจากหายนะนิวเคลียร์ได้อีกด้วย

แต่แม้ว่าความอึดระดับตำนานนี้จะเป็นข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการที่เด่นชัด แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ทะเยอทะยานกลับมองเห็นความเป็นไปได้ที่ไกลเกินกว่านั้น พวกเขากำลังมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของสิ่งมีชีวิตสุดมหัศจรรย์ชนิดนี้ ด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคที่จะเปลี่ยนแมลงสาบธรรมดาให้กลายเป็น “แมลงไบโอนิก” ตัวแรกของโลก

แมลงไบโอนิก คือ การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับสิ่งมีชีวิตจริง เพื่อสร้างแมลงที่มีคุณสมบัติและความสามารถที่ได้รับการปรับปรุงจากเทคโนโลยีหรือวิศวกรรม เช่น การฝังชิปหรือเซ็นเซอร์ในร่างกายของแมลงเพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมและติดตามพวกมัน หรือแม้กระทั่งการดัดแปลงร่างกายของแมลงให้สามารถทำงานเฉพาะด้านได้ เช่น การเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่อันตรายหรือยากต่อการเข้าถึง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาแมลงที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกลโดยใช้ชิปอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจนำไปใช้ในงานวิจัยทางการแพทย์ หรือการตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถเข้าไปได้ด้วยมนุษย์ แมลงไบโอนิกยังเป็นการพัฒนาที่ช่วยให้แมลงมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มความสามารถในการทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น หรือการขยายขีดความสามารถทางกลไกของร่างกายที่แมลงไม่สามารถทำได้ตามธรรมชาติ

นี่ไม่ใช่เพียงการเสริมแกร่งให้กับธรรมชาติ แต่มันคือการสร้างสิ่งมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แข็งแกร่งกว่า เร็วกว่า และทรงพลังยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา แมลงสาบที่คุณเคยหวาดกลัว อาจกลายเป็นนักรบแห่งอนาคตที่กอบกู้โลก!

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ กำลังพัฒนาแมลงสาบไซบอร์กที่สามารถใช้ช่วยชีวิตคนได้ โดยร่วมมือกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโฮมทีม (Home Team Science and Technology Agency หรือ HTX) ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายภายใต้กระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับปฏิบัติการของโฮมทีม 

ทีมดังกล่าวซึ่งนำโดยรองศาสตราจารย์ฮิโรทากะ ซาโตะ จากคณะวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กำลังศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการใช้แมลงสาบในภารกิจค้นหาและกู้ภัย

ในขณะที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้หุ่นยนต์จิ๋วเพื่อช่วยเหลือผู้ตอบสนองแนวหน้าในการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ ทีมงานได้ตัดสินใจศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แมลงสาบไซบอร์กแทน เพราะแมลงสาบเป็นสัตว์ที่คล่องแคล่ว สามารถเคลื่อนที่ผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้มากมาย และมีความแข็งแกร่งโดยธรรมชาติดังที่กล่าวมาข้างต้น

กระทั่งล่าสุดได้พัฒนาโรงงานหุ่นยนต์ที่สามารถผลิตแมลงสาบไซบอร์กได้เป็นจำนวนมากทุกๆ 68 วินาที กระบวนการอัตโนมัตินี้เกี่ยวข้องกับการฝังกระเป๋าเป้อิเล็กทรอนิกส์ที่บรรจุล้องอินฟราเรด ไมโครโฟน เซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งแวดล้อม และเซ็นเซอร์นำทางลงบนตัวแมลงสาบที่มีชีวิต เพื่อควบคุมแมลงสาบ  ซึ่งช่วยให้สามารถควบคุมมันจากระยะไกลได้โดยไม่ทำอันตรายต่อแมลงสาบ จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังเซลล์ประสาทซึ่งจะนำทางและควบคุมแมลงสาบ

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้แมลงสาบกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการทดลองนี้ คือ พรอโนทัม ซึ่งเป็นแผ่นแข็งที่อยู่บริเวณด้านหลังของพวกมัน โครงสร้างอันแข็งแรงนี้เหมาะสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กระเป๋าเป้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อแมลงสาบ

อย่างไรก็ตาม การฝังด้วยมือนั้นช้ามากและซับซ้อน เนื่องจากร่างกายของแมลงมีความบอบบางมาก แต่การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำให้กระบวนการนี้ทำงานโดยอัตโนมัติจะทำให้กระบวนการนี้เร็วขึ้น ในขณะที่แมลงสาบไซบอร์กไม่ได้รับอันตรายมากนัก

ระบบนี้ใช้แขนหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์วิชั่นเพื่อวางตำแหน่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างแม่นยำ ช่วยลดเวลาประกอบชิ้นส่วนจาก 30 นาทีเหลือเพียงไม่ถึง 70 วินาที

แมลงสาบไซบอร์กมีคุณสมบัติต่างจากหุ่นยนต์ตรงที่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง ทำให้สามารถเก็บพลังงานไว้ใช้กับส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนอื่นๆ ได้ 

การประยุกต์ใช้งานที่เป็นไปได้ ได้แก่ การค้นหาและกู้ภัยและการตรวจสอบสภาพแวดล้อม ซึ่งใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของแมลงเหล่านี้ในพื้นที่ที่ท้าทาย เช่น การช่วยค้นหาและช่วยเหลือมนุษย์ที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เมื่อแมลงสาบเคลื่อนตัวผ่านซากปรักหักพัง กล้องอินฟาเรดในตัวและอัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องสามารถใช้เพื่อตรวจจับรูปแบบความร้อนของมนุษย์ได้ 

แม้ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกมองว่าไม่น่าพึงประสงค์ แมลงสาบได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถปรับใช้ในภารกิจสำคัญต่างๆ อย่างที่เราไม่เคยคาดคิด การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับธรรมชาติเปิดโอกาสใหม่ในการสร้างสิ่งมีชีวิตที่ไม่เพียงแต่แข็งแกร่งขึ้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือมนุษย์ในภารกิจที่ยากลำบากและท้าทายที่สุด ความก้าวหน้าเหล่านี้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้ว่าความท้าทายอาจเป็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ หากเราพร้อมที่จะมองเห็นมัน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/12/22/cyborg-cockroach-hero-of-the-future/