‘ไมโครซอฟท์’ ปักธง ‘ซิเคียวริตี้’ ปูทางพลิกโฉม ‘AI Transformation’

Share

Loading

  • ขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ภูมิทัศน์ของภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากที่สุดในประวัติศาสตร์
  • การสร้างความสำเร็จ “AI transformation” ต้องเริ่มต้นจาก “ซิเคียวริตี้”
  • วัดกันตามขนาดจีดีพีอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้กลายเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกแล้ว
  • ไมโครซอฟท์ มุ่งผลักดันแนวคิด “AI – first company” ภายใต้ความปลอดภัย Secure by design, Secure by default, Secure Operations

ปีนี้ AI รวมถึง Generative AI ยังคงเป็นเมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยีที่ร้อนแรง โดยเฉพาะบทบาทของการเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกโฉมวงการเทคโนโลยี ธุรกิจ การทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คน…

วาสุ จักกัล รองประธานฝ่ายความปลอดภัย ไมโครซอฟท์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า AI กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เชื่อว่าหลายคนคงตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกที่ AI กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะการยกระดับศักยภาพของมนุษย์ในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไมโครซอฟท์พบว่า องค์กรกว่า 95% กำลังวางแผนที่จะใช้ AI ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ขณะที่ 66% กำลังวางแผนที่จะใช้และพัฒนาแอป AI ของตนเอง กล่าวได้ว่าความต้องการและความสำคัญของ AI กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การปฏิวัติ AI ซึ่งเกิดขึ้นและพบเห็นโดยทั่วไปได้มาถึงแล้ว

เราอยู่ในยุคของ AI เมื่อมองไปรอบๆ จะพบว่าไม่มีประเทศหรือองค์กรใดในโลกปัจจุบันที่ไม่พูดถึง AI จากข้อมูลล่าสุดที่ได้มามอร์แกน สแตนลีย์ เผยว่า AI และแมชีนเลิร์นนิงยังคงเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับซีไอโอทั่วโลก ขณะที่ความปลอดภัยทางไซเบอร์รองลงมาเป็นอันดับที่สอง

ข้อมูลโดยบริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่า เมื่อปี 2566 ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์มีการลงทุนกับ Generative AI มูลค่าราว 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ปี 2567 เพิ่มขึ้นมาเป็น 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ปี 2566 มีแผนการใช้ Generative AI 55% เพิ่มขึ้นมาเป็น 75% ในปี 2567

หากมองถึงโอกาส เกิดขึ้นทั้งในส่วนของการเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ สอดคล้องไปกับรายงานของการ์ทเนอร์ที่คาดการณ์ว่า ภายในปี 2571 ราว 33% ของเอ็นเตอร์ไพรส์ซอฟต์แวร์จะมีการผสานผสานกับ Agentic AI จากที่เคยมีเพียง 1% ในปี 2567

ต้องเริ่มต้นจาก ‘ซิเคียวริตี้’

วาสุ กล่าวว่า การสร้างความสำเร็จให้กับ “AI transformation” ต้องเริ่มต้นจาก “ซิเคียวริตี้” เป็นอันดับแรก “Secure by design, Secure by default, Secure Operations”

ท่ามกลางพัฒนาการที่ก้าวกระโดดนี้ ไมโครซอฟท์ ตระหนักถึงความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยและความท้าทายที่ลูกค้าต้องเผชิญ ดังนั้นแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจจะอยู่ภายใต้ “Microsoft Secure Future Initiative” ที่มุ่งกำหนดนิยามใหม่ของการปกป้องระบบนิเวศดิจิทัล

ด้วยการผนวกรวมนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Generative AI เข้าไปในกรอบงานด้านความปลอดภัย โดยบริษัทไม่ได้เพียงแค่แก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังสร้างอนาคตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับบุคคลและองค์กร เชื่อว่าการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบจะช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในหลากหลายอุตสาหกรรม

วันนี้หากวัดกันตามขนาดจีดีพีอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้กลายเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกแล้ว จากมูลค่าเมื่อปี 2567 ที่สูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อถึงปี 2571

ขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ภูมิทัศน์ของภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีรหัสผ่านจำนวนมากถูกขโมยในทุกๆ วินาที จากปี 2565 ถึง 2567 การโจมตีโดยแรนซัมแวร์เติบโตกว่า 275% จำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลรั่วมีนับพันล้านราย และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีในระดับที่มากกว่า 490% ต่อปี ทั้งการมาของ Gen AI ยังทำให้การโจมตีของโจรไซเบอร์ ฉลาดขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปูทางปลดล็อกศักยภาพ AI

วาสุย้ำว่า การยกระดับความปลอดภัยในภูมิทัศน์ AI ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างมาก พันธกิจของไมโครซอฟท์คือ การสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งเพื่อปกป้องแอปพลิเคชั่นและข้อมูล AI ด้วย “Security Future Initiative” โปรโตคอลความปลอดภัยล่าสุด กลยุทธ์การจัดการความเสี่ยง และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อรับประกันความความปลอดภัยเมื่อต้องการใช้เทคโนโลยี AI

โดยมีมุมมองว่า สำหรับผู้นำธุรกิจในปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านสู่ AI ต้องเริ่มต้นด้วยความปลอดภัย ไมโครซอฟท์จึงมุ่งยกระดับบริการรวมถึงเตรียมความพร้อมด้วยทรัพยากรด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุม เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างมั่นใจ

อีกทางหนึ่ง เมื่อต้องการ “สร้าง” และ “ใช้” AI ควรมองและรักษาสมดุลในสองด้านคือ การใช้ศักยภาพของ AI และการใช้ AI เป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งสำหรับองค์กร

กลยุทธ์ของไมโครซอฟท์มุ่งใช้ AI เป็นตัวนำทางหลัก ขณะเดียวกันมีการผสมผสาน AI เข้ากับความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยต้องมั่นใจได้ว่ามีการป้องกันที่ครอบคลุม เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ได้ครบวงจร ที่สำคัญมีการร่วมมือเพื่อพัฒนาและสร้างการเติบโตร่วมกันในระบบนิเวศ

การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยไม่เพียงแต่ช่วยปกป้ององค์กร แต่ยังช่วยปลดล็อกศักยภาพ AI อย่างเต็มรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพและการเติบโต ที่ผ่านมา AI และซิเคียวริตี้เป็นเรื่องที่แทบจะแยกจากกันไม่ขาด ทุกครั้งที่มีการสนทนาเรื่องหนึ่งจะมีอีกเรื่องหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ

ชูแนวคิด ‘AI – first company’

คาลลี่ ชาน ผู้จัดการทั่วไป ไมโครซอฟท์ ฮ่องกงและมาเก๊า กล่าวว่า วันนี้ AI ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังซึ่งช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นทั้งในแวดวงเทคโนโลยี ธุรกิจ และการทำงาน

สำหรับไมโครซอฟท์มุ่งผลักดันองค์กรธุรกิจด้วยแนวคิด “AI – first company” โดยมี “Copilot” เป็นเครื่องมือในการทรานส์ฟอร์มการทำงาน ภายใต้บทบาทที่ไม่ใช่เพียงแค่ซอฟต์แวร์ ทว่าเป็นแพลตฟอร์ม รวมถึงผู้ช่วยที่จะทำให้การทำงานมีศักยภาพมากขึ้นใน Agentic World ที่กำลังสร้างมิติใหม่ๆ ในโลกของการทำงาน

แน่นอนว่า “บุคลากร” ยังคงเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร และที่ไม่อาจมองข้ามเมื่อต้องการทำ AI ทรานส์ฟอร์เมชันคือ “ซิเคียวริตี้” ทุกการเริ่มต้นต้องมีความปลอดภัยเป็นรากฐาน

วันนี้ AI กำลังถูกพัฒนาให้เร็วขึ้น ถูกลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของผู้คน ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนและทุกองค์กรควรเริ่มต้นและกลายเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ AI เป็นอันดับแรก

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1162727