- สวีเดนพัฒนาอุตสาหกรรมไม้จนกลายเป็นผู้ส่งออกไม้และเยื่อกระดาษรายใหญ่ติด 5 อันดับแรกของโลก และรักษาพื้นที่ป่าได้กว่า 70%
- โครงการ LoCoFoRest (Locally Controlled Forest Restoration) ฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการป่าไม้และเมืองยั่งยืนด้วยพลังชุมชน
- สวีเดนมีการพัฒนาวิธีการปลูกป่าหมุนเวียนไปพร้อมกับการตัดไม้
- คณะทำงาน LoCoFoRest จากสวีเดน พร้อมตัวแทนในอุตสาหกรรมป่าไม้จาก 5 ประเทศ ร่วมจัดโครงการที่จังหวัดแพร่
- แพร่มีพื้นที่ป่าธรรมชาติมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ
- การมาเยือนของ 5 ประเทศในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เมืองแพร่เคยมีมา
การปลูกป่าคือหัวใจสำคัญของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดโลกร้อน แต่หากป่าไม่สามารถสร้างรายได้ทัดเทียมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นย่อมไม่มีแรงจูงใจในการปลูกป่าเพิ่ม ประเทศสวีเดนพลิกมุมคิดนี้ด้วยการใช้ตลาดนำ พัฒนาอุตสาหกรรมไม้อย่างครบวงจรจนเกิดการบริโภคไม้อย่างกว้างขวาง กลายเป็นผู้ส่งออกไม้และเยื่อกระดาษรายใหญ่ติด 5 อันดับแรกของโลก และยังคงรักษาพื้นที่ป่าในประเทศได้กว่า 70% ของพื้นที่ทั้งหมด
กลยุทธ์ “ตัดไม้แต่ได้ป่า” กลายเป็นองค์ความรู้เฉพาะทางที่หลายประเทศล้วนอยากเจริญรอยตาม รัฐบาลสวีเดนจึงเดินหน้าโครงการ LoCoFoRest (Locally Controlled Forest Restoration) ฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการป่าไม้และเมืองยั่งยืนด้วยพลังชุมชน สนับสนุนโดยหน่วยงาน The Swedish International Development Cooperation Agency (SIDA) และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ความยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านโลกไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำสวีเดนเล็งปั้นจังหวัดแพร่เป็นเมืองไม้ยั่งยืนครบวงจรสวีเดนเล็งปั้นจังหวัดแพร่เป็นเมืองไม้ยั่งยืนครบวงจร
ล่าสุด คณะทำงาน LoCoFoRest จากประเทศสวีเดน พร้อมตัวแทนในอุตสาหกรรมป่าไม้จาก 5 ประเทศ ได้แก่ เนปาล เอธิโอเปีย ลาว เวียดนาม ไทย จำนวน 60 คน มาร่วมจัดโครงการที่จังหวัดแพร่ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2568
นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า แพร่มีพื้นที่ป่าธรรมชาติมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ มีไม้สักท้องถิ่นคุณภาพที่เหมาะแก่การจัดตั้งอุตสาหกรรม ชุมชนสามารถผลิต แปรรูป และจำหน่ายครบวงจรได้โดยไม่พึ่งพาระบบราชการ นับเป็นสัดส่วนรายได้ที่สูงมากในจังหวัดแพร่
แต่ท่ามกลางความนิยมไม้ที่ลดลงประกอบกับพื้นที่ป่าถูกแทนที่ด้วยการทำการเกษตร การศึกษาดูงานครั้งนี้จึงเป็นโอกาสใหญ่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ระดับนานาชาติและหาทางแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกัน ต่อยอดจากความร่วมมือที่เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยหน่วยงานนวัตกรรมไทย-นอร์ดิก (TNIU) ภายใต้สถานทูตไทยในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้เข้ามาทำ Change Project: Sustainable Wood City ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดแพร่
นายเฟรดดริก ซิลเวอร์แบรนด์ หัวหน้าโครงการ LoCoFoRest จาก Swedish Forest Agency ชื่นชมว่า แพร่มีองค์ประกอบทั้งคนและวัตถุดิบพร้อมในการสร้างเมืองไม้ยั่งยืน เมื่อร้อยกว่าปีก่อน สวีเดนเคยตัดไม้ทำลายป่าจนเสียหายหนักในช่วงเวลาใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์ไทย แต่สวีเดนมีการพัฒนาวิธีการปลูกป่าหมุนเวียนไปพร้อมกับการตัดไม้ เช่น ตัด 1 ต้นต้องปลูกใหม่ 3 ต้น ทำให้ปัจจุบัน สวีเดนเพิ่มพื้นที่ป่าจาก 30% เป็น 70% ของทั้งประเทศ และยังสร้างรายได้ภาษีให้กับประเทศจนขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ถึงทุกวันนี้
“เราตื่นเต้นกับไม้สักที่นี่มาก นอกจากคุณภาพไม้ชั้นดี ฝีมือของช่างไม้เมืองแพร่แข่งขันในตลาดพรีเมี่ยมยุโรปได้สบายมาก ขณะนี้ ทางโครงการมีแผนสนับสนุนนำคนจากแพร่ไปแลกเปลี่ยนดูงานที่สวีเดน ให้เห็นว่าการสร้างเมืองไม้ไม่ได้มาจากเฟอร์นิเจอร์ไม้เพียงอย่างเดียว แต่สามารถสร้างตึกอาคารสูงได้ ซึ่งมีความทนทานยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังช่วยให้เมืองทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอน” นายเฟรดดริกกล่าว
ทั้งนี้ สวนป่าสักปลูก (Teak Plantation) มีศักยภาพสูงในด้านเศรษฐกิจ เป็นไม้ยืนต้นราคาสูง สามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการตัดสางขยายระยะและทำวนเกษตร ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สักเป็นไม้ท้องถิ่นที่เกื้อกูลพืชและสัตว์นานาชนิด ส่วนในด้านประโยชน์ต่อมนุษย์ ยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างอากาศบริสุทธิ์ และสร้างพื้นที่สีเขียวรื่นรมย์ มีงานวิจัยชี้ว่า การดูแลป่าแบบมีการจัดการโดยมนุษย์จะสร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้มากกว่าป่าธรรมชาติทั่วไป เช่น การเผาเพื่อทำแนวกันไฟช่วยให้เกิดพืชพรรณชนิดใหม่ที่เป็นประโยชน์กับป่าได้ต่อไป
คณะ LoCoFoRest ยังได้ไปศึกษาดูงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บ้านเขียวสวนรุกขชาติเชตวัน ชุมชนป่าหน้าวัดแพร่แสงเทียน โรงเลื่อยออป.ร้องกวาง วิทยาลัยชุมชนแพร่ ดีเอ็มเฟอร์นิเจอร์ แลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกับกลุ่ม Phrae Move และคณะกรรมการป่าไม้ยั่งยืนเมืองแพร่ นายสามชาย พนมขวัญ ประธานคณะกรรมการป่าไม้ยั่งยืนเมืองแพร่ กล่าวว่า ทุกคนในเมืองแพร่ล้วนเกี่ยวข้องกับไม้สักมาตั้งแต่เกิด มีโรงเรียนป่าไม้แห่งแรกของประเทศไทยเมื่อ 60 กว่าปีก่อน แต่ที่ผ่านมา ร้างไกลจากการดูแลป่าเพราะเน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ ประชาชนกว่า 70% เป็นเกษตรกรและยังมีฐานะยากจน
“เรามีความฝันใหญ่มากที่จะปั้น Wood City ต้นแบบและเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการป่าไม้ในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนของ 5 ประเทศในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เมืองแพร่เคยมีมา ไม่ใช่แค่นั่งคุยในห้องประชุม แต่เราลงพื้นที่ตลอด 3 วัน พบปะตั้งแต่หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ วิทยาลัย ชุมชน วัด เยาวชนคนรุ่นใหม่ นี่คือการทำงานแบบมีส่วนร่วมตามแนวทางของสวีเดนที่จะช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมป่าไม้ครบวงจรอย่างแท้จริง” นายสามชายกล่าว
แหล่งข้อมูล