เทคโนโลยี 5G ในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ หยุดยั้งตาย-ติดเตียงจาก “โรคหลอดเลือดสมอง”

Share

Loading

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 349,126 ราย มีอัตราเสียชีวิต 10% และทุพพลภาพ 60% และที่น่าวิตกคือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี โดยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายของคนไทยอันดับ 2 รองจากมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม โรคหลอดเลือดสมองสามารถลดทอนความรุนแรงได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke จะต้องได้รับยาสลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งทุกๆ 1 นาทีที่เสียไป สมองและเซลล์ประสาทจะตาย  1.9  ล้านตัว หากพบแพทย์ล่าช้า อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กลายเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวร

นอกเหนือจากการนำตัวผู้ป่วยส่งโรง พยาบาลโดยเร็วที่สุดแล้ว โครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเข้าถึงผู้ป่วยในอีกทางหนึ่ง โดยเป็นการยกระดับการเข้าถึงบริการทาง การแพทย์ขั้นสูง สำหรับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

โดยล่าสุดบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงมหาด ไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำศักยภาพเครือข่าย 5G มาใช้ผ่านโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง ทั่วประเทศ นำร่องที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพ ราชปัว จังหวัดน่าน จากนั้นจะกระจายครอบคลุม พื้นที่ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ภาคใต้ 4 แห่ง และภาคกลาง 2 แห่ง

โครงการดังกล่าว เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือที่ทรูทำกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยระบบสารสนเทศ ทรู กล่าวว่า เครือข่าย 5G มีจุดเด่นทั้งด้านความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ความเสถียร และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย ซึ่งเป็นหัวใจของการเชื่อมต่อในรถ “Mobile Stroke Unit”

ศักยภาพของเครือข่าย 5G ช่วยให้การ สื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ผ่านวิดีโอคอลคมชัดไม่สะดุด ทำให้ การวินิจฉัยและการให้คำปรึกษา มีประสิทธิภาพ แม่นยำ ในเวลาที่ทุกวินาทีมีความหมายต่อชีวิต, การรับ-ส่งดาต้า ข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ภาพถ่าย เอกซเรย์ หรือผลตรวจต่างๆ ด้วยอินเตอร์เน็ตเร็วสูง ทำให้ข้อมูล ถูกต้อง แม่นยำปลอดภัย

ภายในรถพยาบาลเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จะมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่ ลดระยะเวลารักษาและอัตราการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner) ให้ภาพสแกนสมองภายในไม่กี่วินาที ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาได้รวดเร็ว ทั้งกรณีหลอดเลือดอุดตันและเลือดออกในสมอง รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย ทั้งเครื่องฉีดสารทึบรังสี เครื่องตรวจเลือด พร้อมระบบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางไกล (Teleconsultation) และสามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันที ตลอดจนระบบกล้องบันทึกภาพและสนทนากับผู้ป่วย ขณะอยู่บนรถ ช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาล่วงหน้าก่อนถึงโรงพยาบาล แม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างไกลหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตร

ทั้งนี้ องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) เผยว่า ประชากรทั่วโลก 1 ใน 4 คนเคยประสบกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีอาการเบื้องต้นตามหลัก B.E.F.A.S.T. ได้แก่ Balance: เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน, Eye: ตามัว มองเห็นภาพซ้อนฉับพลัน, Face: ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน, Arm: แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก, Speech: พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง, Time: ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2836854