บริษัทเอไอที่ไม่ให้ใช้เอไอ! Anthropic ออกนโยบาย ห้ามใช้เครื่องมือเอไอในกระบวนการสมัครงานทุกตำแหน่ง ชี้ ต้องการประเมินทักษะการสื่อสารจริงของผู้สมัคร
แอนโทรพิค (Anthropic) บริษัทวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ผู้พัฒนาแชตบอตเอไออย่าง “คลอดด์ (Claude)” กำหนดนโยบายให้ผู้สมัครงานทุกตำแหน่งต้องกรอกใบสมัครด้วยตนเอง ไม่ผ่านการช่วยเหลือจากเครื่องมือเอไอ เนื่องจากต้องการประเมินทักษะการสื่อสารที่แท้จริงของผู้สมัคร
แม้ว่า Anthropic จะเป็นบริษัทที่พัฒนาเอไอและส่งเสริมให้ใช้งานในภาคธุรกิจ แต่สำหรับกระบวนการรับสมัครพนักงาน บริษัทกลับมีจุดยืนชัดเจนว่า ผู้สมัครต้องเขียนจดหมายสมัครงาน และตอบคำถามว่า “ทำไมถึงอยากร่วมงานกับเรา” ด้วยตนเอง
รายละเอียดของนโยบายระบุว่า “แม้เราจะสนับสนุนให้พนักงานใช้เอไอช่วยทำงานให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขอความร่วมมือไม่ใช้เอไอในขั้นตอนการสมัครงาน เพราะเราอยากเข้าใจว่าคุณสนใจบริษัทเราจริงๆ แค่ไหน และอยากเห็นว่าคุณสื่อสารได้ดีขนาดไหนโดยไม่ต้องพึ่งเอไอ โดยนโยบายนี้ใช้กับทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์กฎหมาย ผู้จัดการฝ่ายบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ประสานงานภายนอก”
จากการสำรวจของ CV Genius ในปี 2024 พบว่า ผู้จัดการฝ่ายบุคคล (HR) ราว 80% ไม่ชอบเห็นประวัติย่อและจดหมายสมัครงานที่ใช้เอไอเขียน และ 74% บอกว่าดูออกเลยว่าใช้เอไอเขียน นอกจากนี้ ผู้จัดการมากกว่าครึ่งแสดงความเห็นว่า หากทราบว่าผู้สมัครใช้เอไอเขียนใบสมัคร โอกาสที่จะได้งานก็น้อยลงทันที
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Neurosight ชี้ว่า ผู้สมัครงาน 57% ใช้ ChatGPT ช่วยเขียนใบสมัคร ขณะที่บริษัทต่างๆ ก็ส่งเสริมให้พนักงานใช้เทคโนโลยีนี้ โดยพนักงาน 70% ได้เรียนรู้วิธีใช้เอไออย่างถูกต้อง และผู้บริหาร 90% ก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
Anthropic มีมูลค่าบริษัทกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ ได้พัฒนา Claude for Enterprise ซึ่งเป็นระบบเอไอที่ใช้งานภายในองค์กรขนาดใหญ่ และได้รับการลงทุนจาก Google มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 แต่พวกเขากลับมองหาทักษะด้านมนุษย์ในกระบวนการคัดเลือกพนักงาน โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร การเล่าเรื่อง และความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เอไอยังทำไม่ได้ดีเท่ามนุษย์
ฝ่ายบุคคลที่ต้องอ่านใบสมัครเป็นพันๆ ฉบับ อาจใช้เอไอช่วยคัดกรองเบื้องต้น แต่พวกเขาก็อยากเห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้สมัครมากกว่าข้อความที่ผ่านการขัดเกลาจากเอไอ ประเด็นเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรยังคงให้คุณค่ากับความคิดและการสื่อสารของมนุษย์มากกว่าความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัล
แหล่งข้อมูล