สวัสดีครับเพื่อนสมาชิกนิตยสาร Security Systems ที่เคารพ เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเข้าสู่ครึ่งหลังปี พ.ศ.2562 ของรัฐบาลท่าน พล.อ.ประยุทธ์ 2 หวังว่าประเทศไทยของเราจะเริ่มเดินหน้ากันอย่างเต็มลูกสูบนะครับ
ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอเรื่องความปลอดภัยด้านการบิน (AVSEC : Aviation Security) ไปนานพอสมควร และในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวคราวที่เกี่ยวกับเรื่องการบินในประเทศและบ้านใกล้เรือนเคียงที่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยก็เลยอยากขออนุญาตมานำเสนอมุมมองและข้อมูลโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความปลอดภัยให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากันครับ
เรื่องแรก แฟนคลับศิลปินเกาหลี กับการปฏิบัติตามกฎระเบียบในเรื่องความปลอดภัยของสนามบิน
เรื่องที่สอง ห้ามนำน้ำพริก แกง หรือน้ำจิ้ม หิ้วหรือถือขึ้นเครื่องบิน
ทั้งสองเรื่องต่างเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในแวดวงการบินซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางที่มีความปลอดภัยสูงสุดในโลก ที่ผู้เขียนอยากย้อนเวลาให้ท่านผู้อ่านได้รำลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวและยกเครื่องเรื่องความปลอดภัยในเรื่องการบินขึ้น นั่นก็คือ เหตุการณ์ 911 เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นการโจมตีด้วยเครื่องบินพาณิชย์โดยผู้ก่อการร้ายได้แฝงตัวเป็นผู้โดยสารและสามารถปฏิบัติการระทึกโลกในวันดังกล่าว
หลังจากเหตุการณ์ 911 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยด้านการบิน ที่มีหน่วยด้านการบินสากลอย่างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (International Civil Aviation Organization) จึงได้ทำการปรับปรุงนโยบายด้วยการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินให้ถือว่าเป็นความปลอดภัยสูงสุด (Highest Security) เช่นเดียวกับสถานที่สำคัญระดับประเทศ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา สถานทูต หน่วยงานความมั่นคง หรือสถานที่ราชการที่สำคัญ
มาตรฐาน ICAO จึงเป็นข้อบังคับเพื่อนำไปปฏิบัติ ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบินในประเทศไทย เช่น
- สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT (The Civil Aviation Authority of Thailand)
- กรมท่าอากาศยาน (Department of Airports)
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (Airports of Thailand Public Company Limited)
- บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AEROTHAI (Aeronautical Radio of Thailand Public Company
- หน่วยงานรัฐและเอกชนอื่น ๆ
ซึ่งจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งแฟนคลับและห้ามนำน้ำพริก แกง หรือน้ำจิ้ม ถือขึ้นเครื่องบินนั้น เป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องตระหนัก ถ้าผู้บริหารสนามบินหรือสายการบินไม่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามระเบียบ นอกจากจะผิดกฎการบินแล้ว ยังอาจจะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจคาดฝันได้ (ไม่อยากใช้คำว่า “วัวหาย ล้อมคอก” อีก)
เรื่องแฟนคลับยังเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในโซน Landside ซึ่งทางผู้บริหารสนามบินจะมีระเบียบข้อบังคับเบื้องต้นอยู่ ดังนั้นถ้ามีการกระทำให้ทรัพย์สินเสียหายก็จะต้องถูกดำเนินคดีได้
ส่วนในเรื่องของหิ้วหรือถือน้ำพริก แกง หรือน้ำจิ้ม ขึ้นเครื่องบิน ผู้เขียนก็ไม่ค่อยได้เห็นในต่างประเทศนะครับ ดังนั้น กพท. (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย) หรือ CAAT (The Civil Aviation Authority of Thailand) จึงได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นระเบียบฉบับใหม่ของ กพท. ที่บังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป ซึ่งมีการกำหนดห้ามมิให้ผู้โดยสารมีการนำของเหลวที่มีปริมาตรมากกว่า 100 มิลลิลิตรถือติดตัวขึ้นเครื่องบิน แต่อนุญาตให้ฝากเป็นสัมภาระลงทะเบียนโหลดใต้ท้องเครื่องเท่านั้น โดยให้บรรจุในภาชนะที่มิดชิด
**สำหรับคำจำกัดความเรื่องหลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562 นั้น จะรวมไปถึง อาหารจำพวกที่มีของเหลว เช่น ต้ม แกง น้ำพริก น้ำจิ้มต่าง ๆ น้ำ เครื่องดื่ม ซุป น้ำเชื่อม แยม สตูว์ ซอส น้ำพริก หรืออาหารที่อยู่ในซอสที่มี รวมไปถึง มาสคารา ลิปสติก หรือลิปบาล์ม ที่มีปริมาตรมากกว่า100 มิลลิลิตร หรือ ไม่มีปริมาตรระบุ**
ฉบับหน้า ผู้เขียนจะมาขอต่อ AVSEC ภาคสองนะครับ
โดย เตชิต ทิวาเรืองรอง
ข้อมูลอ้างอิง
http://socialnews.teenee.com/penkhao/23658.html
https://www.sanook.com/news/7813722/
http://entertain.teenee.com/kpop/184314.html
http://guruchiangmai.com/?p=3767
http://www.occupybanksters.com/images/my-news/sticky/911-attack-chart_b.htm