AVSEC II : Aviation Security

Share

Loading

สวัสดีครับเพื่อนสมาชิกนิตยสาร  Security Systems ที่เคารพ ฉบับที่ท่านถืออยู่นี้ จะอยู่ในช่วงฤดูกาลโยกย้ายและสิ้นสุดวาระ (เกษียณอายุ) ในวงการข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน หลายหน่วยงานก็จะมีความคึกคักทั้งเรื่องการแสดงความยินดี (แสดงมุทิตาจิต แสดงกตเวทิจิต) การมอบและรับมอบนโยบายสำหรับผู้บริหารท่านใหม่ รวมถึงเป็นปีงบประมาณใหม่ด้วย (แต่ปีงบประมาณนี้น่าจะต้องรอ พระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปอีกซักระยะ…)

            ผู้เขียนขอนำเสนอในเรื่องความปลอดภัยด้านการบิน (AVSEC : Aviation Security) ต่อจากฉบับก่อนหน้านี้ ข้อเท็จจริงระเบียบปฏิบัติทางด้านการบิน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นไปทางเดียวกันทั้งโลก มีหน่วยด้านการบินสากลอย่างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (International Civil Aviation Organization) ที่ได้เคยกล่าวไปแล้ว จะกำหนดแนวทางหรือ Guidelines และหน่วยงานที่กำกับดูแลของแต่ละประเทศหรือกลุ่มประเทศ เช่น หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศประเทศสหรัฐอเมริกา (TSA : Transportation Security Administration) ภายใต้สังกัดของ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS : Department of Homeland Security) องค์กรบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA : Federal Aviation Administration)  และ องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency) ก็อาจจะออกระเบียบเสริมหรือเพิ่มเติมขึ้นมา ตามภาพอินโฟกราฟิกตัวอย่าง

AVSEC ll 2

            ระเบียบที่มีแนวทางการปฏิบัติเหมือนกัน (ผู้เขียนคาดว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ของสนามบินระหว่างประเทศทั่วโลก และเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ของสนามบินภายในประเทศทั่วโลก)   โดยเฉพาะระเบียบปฏิบัติการอนุญาตให้นำสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ ดังตัวอย่าง 3-1-1  for your carry-ons ของ TSA ที่แสดง Infographic และ คำอธิบายที่เข้าใจง่าย นั่นคือ

3 คือ ขนาดบรรจุภัณฑ์ (ขนาด ภาชนะที่ใส่ เช่น ขวด หลอด กล่อง) ที่ใส่ของเหลว หรือเจล   ต้องไม่เกิน 3.4 ออนซ์ (100 มม.)

1 (แรก) คือ กระเป๋าพลาสติกใสที่มีซิบรูดปิด-เปิด

1 (หลัง) คือ กระเป๋าสัมภาระที่ติดตัวขึ้นเครื่อง ที่ใส่กระเป๋าพลาสติกใส 1 (แรก) อยู่

AVSEC ll 3A

 

แล้วก็ยังมีคำแนะนำอื่นๆ ที่มี ประโยชน์ต่อตัวผู้โดยสารเองยกตัวอย่างเช่น

  • ถ้าเป็นการเดินทางระยะสั้นก็ควรนำของเหลวหรือเจลทั้งหลายใส่ไว้ในกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่องซะ (แต่นักนิยมโลว์คอส-low cost airline คงไม่ชอบเพราะไม่อยากเสียค่าโหลดสัมภาระ)
  • กรณียา ของจำเป็นสำหรับเด็กเล็กหรือทารก (อาหาร น้ำนมคุณแม่ที่บีบไว้แล้ว) จะอนุญาตตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาที่จุดตรวจสอบ (Checkpoint)
  • Come Early and Be Patient ผมชอบมาก คือมาเร็วๆ และมีความอดทนแล้วมันจะผ่านไปเอง ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีสนามบินไหนอยากให้มีคิวยาวๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดใดในสนามบิน เพราะผลจะตามมา อาจจะเป็นเหตุการณที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็ได้

            นอกจากเรื่องข้างต้นที่ผู้เขียนมั่นใจว่าท่านผู้อ่านที่เคารพทราบกันดีอยู่แล้ว ยังระเบียบปฏิบัติที่เพิ่มเติมขึ้นที่หลายหน่วยที่เกี่ยวข้องด้านการบินข้างต้น รวมถึงหน่วยงานความปลอดภัยด้านการบินในประเทศอื่นๆ เช่น ระเบียบปฏิบัติ E-CIG (Electronic Cigarettes) หรือที่คนไทยเรียกว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” (ทำไมไม่เรียกว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์)

            E-CIG ทาง TSA นำมาบังคับใช้เมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559) ว่าด้วยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ (รวมถึง E-Liquid : น้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้า) ห้ามใส่ไว้ในกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่อง สามารถถือขึ้นเครื่องได้แต่ต้องไม่มีรูปร่างหรือลักษณะที่คล้ายอาวุธหรือวัตถุระเบิด

            สาเหตุที่ห้ามโหลด E-Cigarettes ใต้ท้องเครื่อง เป็นเหตุผลเดียวกับโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เนื่องจากแบตเตอรี่ เช่นเดียวกับ Power bank pack (ชุดแบตเตอรี่สำรอง) ก็เป็นข้อห้ามโหลดใต้ท้องเครื่อง เช่นเดียวกัน

AVSEC ll 5

            ถึงแม้ว่าจะสามารถนำ E-Cigarettes หรือบุหรี่ไฟฟ้าติดตัวขึ้นเครื่องได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงที่จะสูบในระหว่างการเดินทางนะครับ ด้วยเหตุผลของควันที่อุปกรณ์ตรวจจับควันในห้องโดยสารอาจทำงาน หรือแม้แต่ประกายไฟเมื่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในขณะที่ E-Cigarettes ทำงาน

            ระเบียบปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยด้านการบินยังมีอีกหลากหลายประเภทนะครับ ผู้เขียนจะทยอยนำมาย้ำเตือนท่านผู้อ่าน เอาไว้กันลืมเมื่อต้องเดินทาง รวมถึงเมื่อมีกฎระเบียบใหม่ๆ ออกมา เพื่อจะได้รับทราบและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ จะได้ไม่เสียเวลาและความรู้สึก รวมถึงอาจจะเสียของได้อีกด้วยครับ

โดย เตชิต ทิวาเรืองรอง

 

ข้อมูลอ้างอิง

www.icao.int

https://www.dhs.gov/

https://www.faa.gov/

www.tsa.gov

https://www.easa.europa.eu

www.luggagepros.com/travel/tsa-liquid-carryon-rules.shtml

https://expertvaping.com/tsa-guidelines-for-flying-with-e-cigarettes-e-liquid/