โครงการระบบกล้องปัญญาประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

Share

Loading

โดย อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            เทคโนโลยีทุกวันนี้มาไกลอย่างก้าวกระโดด ผู้ที่นำเทรนด์ย่อมประสบความสำเร็จกว่าผู้ที่ตามเทรนด์อย่างแน่นอน ซึ่งในหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยเห็นทีจะไม่พ้น อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้จัดทำ “โครงการระบบกล้องปัญญาประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ขึ้นมา

โครงการเกิดขึ้นได้เพราะตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในอนาคต

            อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้เล่าถึงความเป็นมาของ “โครงการระบบกล้องปัญญาประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ไว้ว่า

            “ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีโครงการปรับปรุงกล้องวงจรปิดรอบมหาวิทยาลัย เนื่องจากกล้องวงจรปิดได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกัน อีกทั้งมหาวิทยาลัยเองก็มีพื้นที่กว้างขวางมาก การซ่อมแซมพื้นฟูระบบจึงใช้งบประมาณจำนวนมาก และดำเนินการได้อย่างล่าช้า”

            “ทางทีมวิจัยและพัฒนาของผมจึงได้อาสาเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ โดยการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางด้านหุ่นยนต์มาปรับประยุกต์ใช้ อีกทั้งยังตระหนักดีว่า ภายภาคหน้าองค์ความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์จะมีความสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยทางด้านภาพ ทางทีมผมจึงตัดสินใจพัฒนาทุกอย่างขึ้นมาเองเพื่อให้ได้องค์ความรู้ในทุกๆ ส่วนของระบบความปลอดภัยโดยใช้กล้องวงจรปิด เริ่มตั้งแต่ตัวกล้องวงจรปิด การออกแบบโครงข่าย และระบบจัดการภาพส่วนกลาง”

AI camera system 3

            “ใช้เวลา 2 ปี ในการพัฒนาเฉพาะตัวกล้องวงจรปิด ให้มีความเสถียรภาพและมีฟังก์ชันมาตรฐานทั่วไปของกล้องวงจรปิดในตลาด และใช้เวลาอีก 2 ปี ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานบนตัวกล้องวงจรปิด และบนระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง อีก 1 ปี ในการประชาสัมพันธ์และทดสอบการผลิตในระดับของการทำผลิตภัณฑ์  เราผ่านอุปสรรคมามากจริง ๆ ครับ จนมาถึงวันที่เราได้ติดตั้งระบบกล้องปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถใช้งานได้จริงและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย”

AI camera system 4

ประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย

            “เรามีองค์ความรู้ของตนเองตลอดแนวตั้งแต่ต้นทางของข้อมูล จนถึงวิธีการจัดการข้อมูลปลายทางของเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด สามารถสร้าง พัฒนาและปรับประยุกต์ นำไปใช้ต่อยอดในศาสตร์ด้านอื่นๆ เกิดเป็นการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการพึ่งพาตนเองได้หมายถึง ความมั่นคง เราสามารถผลิต ประกอบ ติดตั้งและดูแลรักษาระบบกล้องวงจรปิดครบวงจร เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงภายใน ลดการสิ้นเปลืองงบประมาณ สร้างงาน สร้างคน  สร้างชาติ”

AI camera system 5

เป็นเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้กับหน่วยงานและสายงานด้านอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย

            “มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่แสดงความต้องการนำไปใช้งานหรือต่อยอด โดยการทำเรื่อง MOU เพื่อทำวิจัยหรือทำโครงการพัฒนาวิชาการกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งทางเราก็ผลักดันเต็มที่นะครับ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานในระดับที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีการต่อยอดไปในด้านอื่น ๆ

AI camera system 6

            “องค์ความรู้เรื่องกล้องวงจรปิดที่เรามีอยู่นี้ หากเปรียบเทียบกับระบบในคนก็คือ ตา ทราบหรือไม่ครับ ตาของเราทำอะไรได้บ้าง เห็น สี รูปทรง ขนาด มิติของภาพ ประเภทของข้อมูลภาพเหล่านี้ สามารถนำไปปรับประยุกต์ในการตรวจวัดหรือตรวจจับได้อีกมากมาย เช่น การนำข้อมูลภาพไปปรับประยุกต์ด้านเกษตรกรรม ยกตัวอย่าง การตรวจนับจำนวนของผึ้ง  แยกประเภทพืชผลทางการเกษตร ดูการเปลี่ยนแปลงของพืชโดยใช้ภาพหลายย่านแสง เป็นต้น”

หากใช้อย่างถูกวิธี ก็ไม่สามารถนำโครงการมาประเมินเป็นมูลค่าได้

            “ถ้าถามว่านำไปประเมินเป็นมูลค่าแล้วจะช่วยประเทศชาติได้อย่างไร ตอบว่าประเมินไม่ได้ครับ หากมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างมีระเบียบวิธี เราจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ โดยใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างมากมาย และจะเปลี่ยนวิธีการจัดการของเราไปตลอดกาล หากจะเปรียบให้เข้าใจง่ายกว่านี้ ถ้าตอนนี้เรากำลังต่อยมวยระดับอำเภอ เทคโนโลยีนี้จะส่งให้เราไปต่อยมวยระดับโอลิมปิกได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี”

AI camera system 7

การพัฒนาต่อยอดโครงการในอนาคต

            สำหรับเรื่องการนำไปต่อยอดนั้น อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ได้กล่าวไว้ว่า ต้องการผลักดันให้เป็นแพลตฟอร์มกลางที่มีการใช้งานระดับประเทศ โดยแตกแขนงองค์ความรู้เหล่านี้แยกออกไปตามสาขาของ Smart City ที่กำกับดูแลโดย DEPA เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม ซึ่งเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มีองค์ประกอบ 7 อย่าง ดังต่อไปนี้

AI camera system 8

  1. Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ
  2. Smart Mobility การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ
  3. Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ
  4. Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ
  5. Smart People พลเมืองอัจฉริยะ
  6. Smart Living การดำรงชีวิตอัจฉริยะ
  7. Smart Governance การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ

            จะเห็นได้ว่าประเทศไทยของเราเองนั้น ในด้านเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติใดเลย อีกทั้งเทคโนโลยีตัวนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนของประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะภาคเอกชนหรือแม้แต่ภาครัฐเองก็ตาม เราควรร่วมใจกันสนับสนุนเทคโนโลยีของไทย เพราะเชื่อว่าประเทศไทยสามารถเดินหน้าไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน